บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์* เรื่อง “ นางงาม กับ เหยื่อคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี”

 

สืบเนื่องจากข่าว “ ชาล็อต ออสติน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมิจฉาชีพได้ใช้กลอุบายในการหลอกลวงเงินจำนวน ๔ ล้านบาท พร้อมทั้งควบคุมการสื่อสารของชาล็อตอย่างเข้มงวด ด้วยการบังคับให้วีดิโอคอลตลอด ๒๔ ชั่วโมง” 


โดยมิจฉาชีพได้ติดต่อ ชาล็อต โดยอ้างว่า “ เอกสารส่วนตัวของ ชาล็อต ถูกนำไปใช้เปิดบัญชีธนาคารอย่างผิดกฎหมาย”  โดยกล่าวหาว่า “ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย สาขาสุพรรณบุรี เป็น            ผู้เปิดบัญชีนี้เพื่อรับเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของบุคคลหนึ่ง ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีคดีฟอกเงินและ      เคยเป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย 


มิจฉาชีพได้อาศัยจังหวะที่ ชาล็อต อยู่ในความหวาดกลัว และกดดันไม่ให้ ชาล็อต ติดต่อใคร              และไม่ส่งข้อความหรือเอกสารใด ๆ โดยอ้างว่ากระบวนการอยู่ในขั้นตอนของคดี และเป็นเรื่องความลับ พร้อมทั้งหลอกให้  ชาล็อต โอนเงินโดยอ้างว่าจะตรวจสอบที่มาของเงิน และจะคืนเงินให้ภายหลังเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น” 


หลัง ชาล็อต รู้ตัวว่า ถูกหลอกได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.สุทธิสาร และต่อมา คดีดังกล่าวได้ถูกโอนมาที่  กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๑ ( บก.สอท.๑)

ต่อมา บช.สอท. สามารถจับกุม นางสาว ป. ได้ ภายหลังสืบสวนพบว่า มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบัญชีที่ ชาร์ลอต โอนเงินไปยังบัญชีของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยโอนเข้าบัญชีของผู้ต้องหารายนี้ จากนั้นคนร้ายได้โอนไปตามบัญชีม้าแถว ๒ และแถว ๓ ตามลำดับ แล้วจากนั้นนำไปเปลี่ยนเป็น “ สกุลเงินดิจิทัล” ทำให้ยากแก่การติดตามเอาเงินกลับคืนมาได้ 


ข่าว “นางงามชาล็อต ถูกหลอกโอนเงิน ๔ ล้านบาท ” บอกอะไรแก่เราบ้าง ?


๑. ไม่ว่าจะเป็น ใคร ก็ตาม แม้จะเป็น “ นางงาม , นักร้อง, นักแสดง แม้แต่ผู้ที่มีความรู้ทาง

    กฎหมาย อย่างเช่น ทนายความ ก็อาจตกเป็นเหยื่อของ มิจฉาชีพ ได้

๒. หลอกให้รัก ,หลอกให้หลง, หลอกให้ลงทุน เสนอผลประโยชน์ตอบแทนในจำนวนที่สูง              


๓.  ทำให้กลัว กลัวจะถูกดำเนินคดี กลัวจะถูกจับกุมแล้วไม่ให้ประกัน 

      เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุให้ตกเป็น “ เหยื่อมิจฉาชีพ” ได้


๔. เมื่อรู้ว่า “ถูกหลอกตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ” แล้ว ต้องรีบไปแจ้งความ ( ความจริง) ต้องรีบไปแจ้งธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เพื่อให้ ธนาคารฯ รีบ “อายัดเงิน”, “อายัดบัญชี”และให้ธนาคารฯที่รับแจ้งอายัดดังกล่าวให้รีบแจ้งอายัดต่อไปยัง ธนาคารที่รับโอนเงินไปต่อ เพื่อให้อายัดเงิน อายัดบัญชีที่รับโอนต่อมา

๕.  เมื่อเงินของ ชาล็อต ถูกโอนออกแล้วไปเข้า “ บัญชีม้า (แถวที่หนึ่ง)” จะถูกโอนต่อไปยัง 

“บัญชีม้าแถวที่สอง” และ “ บัญชีม้าแถวที่สาม” ได้อย่างรวดเร็วมาก และถูกแปรเปลี่ยน

เป็น “ เงินสกุลดิจิตอล”  ซึ่งยากที่จะติดตามเอาคืน  โดยเฉพาะ “ผู้รับโอนแถวสุดท้ายเป็น

บุคคล  หรือ นิติบุคคลต่างประเทศ 


๖.   นางสาว ป. ซึ่งเป็น “บัญชีม้าแถวแรก” ซึ่งถูกจับกุมได้แล้ว  พบว่า “นอกจากจะได้รับจ้างเปิดบัญชีม้าแล้ว ยังได้มีการเดินทางข้ามแดนไปที่ฝั่งเขมรเพื่อไปสแกนใบหน้าเพื่อเบิกถอนเงิน ” อันเป็นพฤติกรรมบ่งบอก การกระทำที่มากไปกว่าการเป็น “ บัญชีม้า ”


 ๗.  ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.๓ บก.สอท.๑ จับกุม  นาย อ. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง นางสาว ป. ให้เปิด “บัญชีม้า” และได้แจ้งข้อหาแก่ นาย อ. ในความผิดฐาน


 “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจ ด้วยการขู่เข็ญ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือ ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยเป็นการกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด, เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการขายบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใดและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”


มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน


(๑) ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖  

          มาตรา  ๖ - เมื่อ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ 


         ๑). “ สั่งระงับการทำธุรกรรม ” 


         ๒) “แจ้ง ” ให้สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ เพื่อระงับไว้เป็นการชั่วคราวได้ ไม่เกิน ๗ วัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัย หรือ ได้รับแจ้ง (แล้วแต่กรณี) เพื่อตรวจสอบ ความถูกต้องแท้จริง


        ๓) แจ้งให้ผู้เสียหายไป “ร้องทุกข์”  ต่อพนักงานสอบสวนภายใน “เจ็ดสิบสองชั่วโมง”  


วิธีการแจ้งข้อมูล ให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” รวมถึง“สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอน ทราบเพื่อขออายัดเงิน อายัดบัญชี    :   มาตรา ๘ 


๑.)   แจ้งทางโทรศัพท์  

๒.)   แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์

 

  วิธีแจ้งความร้องทุกข์


๑)  ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ.

        ๑.๑  สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร หรือ

  ๑.๒ กองบัญชาการตรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็ได้

 ๒)   ร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้

 ๓)    แจ้งความร้องทุกข์ผ่านทาง แอพพลิเคชัน https://thaipoliceonline.com/

 

ใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ?


มาตรา ๘ บัญญัติ ให้ “พนักงานสอบสวนท้องที่รับคำร้องทุกข์” เป็น “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” ซึ่งเป็นการยกเว้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติให้  ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ความผิดเกิด เชื่อว่าได้เกิด หรือ อ้างว่าได้เกิด 


ความรับผิดของ “บัญชีม้า” / “ ซิมผี ”

 มาตรา  ๙ ผู้ใด 

๑) เปิด หรือ ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ “ บัญชีเงินฝาก” , “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตน หรือ เพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือ

๒) ยินยอมให้บุคคลอื่น ใช้ หรือ ยืมใช้  “ เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่”  ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด 

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน  ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ


(๒)   มาดูตัวอย่าง คำพิพากษาของศาล ที่พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี


“ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานเปิดบัญชีเงินฝากโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง จำคุก ๒ ปี / สำหรับความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ” และ “ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐาน  โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ” ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี ให้จำเลยคืนเงิน ......... บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 


มีข้อสังเกตว่า “ บัญชีม้า” จะเป็นแค่ “ บัญชีม้า ”  หรือ เป็นผู้ร่วมกระทำผิด หรือ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ” และ “ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ขึ้นอยู่กับ พยานหลักฐาน ขึ้นอยู่กับ “พฤติการณ์และการกระทำ” ของ ผู้เปิดบัญชีม้า ผู้เปิด            ซิมโทรศัพท์ (ซิมผี)


นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า “บอส ณ. ” บอกว่า “ ต้องการให้ “แอปฯ B (อักษรย่อ)” ออกมารับผิดชอบ ที่รับแปลงเงินดิจิทัลของมิจฉาชีพรายนี้ รวมถึงทางธนาคารที่เกี่ยวข้องด้วย หากไม่ออกมาร่วมรับผิดชอบขู่จะ “ฟ้องร้อง ” ธนาคารที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งประเด็นได้น่าสนใจว่า

           ๑)  ข้อมูลส่วนตัว หลุดออกไปได้ยังไง 

  ๒)  ธนาคารมีระบบป้องกันมากกว่านี้หรือไม่ ?


เรื่องนี้ เคยมีแนวคำพิพากษาของศาล เช่น

คำพิพากษาของศาลแขวงระยอง คดีหมายเลขแดง ที่ ผบ. E ๖๗๙๑ /  ๒๕๖๗  ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่วินิจฉัยว่า


“ ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏชัดว่า เมื่อโจทก์ ( สถาบันการเงิน) ได้รับแจ้งเหตุก็ไม่ได้ดำเนินการอื่นใดนอกจากแจ้งให้จำเลย ( ผู้บริโภค) ไปดำเนินการแจ้งความติดตามเรื่องด้วยตนเอง ทั้งที่ โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินและเป็นเจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายลักไป  โจทก์สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อดำเนินการระงับยับยั้งหรืออายัดเงินที่ลูกค้า ผู้ถือบัตรเครดิตแจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราวเพื่อทำการตรวจสอบได้โดยง่าย  แต่กลับไม่รวมกลุ่มเพื่อดำเนินการยกระดับป้องกันภัยทุจริตดังกล่าวโดยปล่อยให้เป็นภาระของจำเลยซึ่งเป็นผู้บริโภคขวนขวายติดตาม  ทั้งที่แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชัดเจนว่า  กรณีเหตุทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรการชำระเงินผ่านบัตรหรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตร หรือ ผู้ถือบัตรมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน.....” และ ศาลแขวงระยองได้มีคำพิพากษา  “ ยกฟ้อง ”ในคดีที่ สถาบันการเงิน ฟ้อง ผู้บริโภค


คดี ชาล็อต จึงเป็นคดีที่มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการที่มิจฉาชีพใช้ วิดิโอคอลล์  ๒๔ ชั่วโมง การอาศัยข้อมูลของเหยื่อมาขู่ให้เหยื่อกลัวจะถูกดำเนินคดี ฐาน ฟอกเงิน การขู่ว่าจะจับกุมและไม่ให้ประกันตัว ( ซึ่งระยะหลัง เมื่อถูกจับกุมในคดีฟอกเงิน  ศาลมักจะไม่ให้ประกันตัว ) การที่คดีถูกโอนมาจากสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร มาที่ กองบัญชาการตรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  การจับกุม บัญชีม้าแถวที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว และแม้เงินของเหยื่อจะถูกโอนและแปรสภาพเป็น “เงินสกุลดิจิตอล”  แล้วก็ตาม แต่ก็มีข่าวว่า ( อาจจะ ) สามารถอายัดไว้ได้บางส่วน  การเรียกร้องให้ ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วยการ สร้างระบบภูมิคุ้มกันเงินฝาก หรือ เงินในบัญชีของลูกค้าไม่ให้ถูกดูด หรือ ถูกยักย้ายถ่ายเทได้โดยง่าย


และเมื่อพิจารณาข้อมูลความเสียหายจากภัยไซเบอร์ จำนวนเคสทั้งหมด ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๖   ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗   พบว่า ประชาชนได้รับความเสียหายไปแล้ว รวม  ๗๐๘,๑๔๑ เคสไอดี ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมาก


ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ  การรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ไม่กด link  หากไม่แน่ใจให้ตัดสายทิ้งหรือ ปฏิเสธไว้ก่อน หรือ ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนยืนยัน หรือทำตาม พึงระลึกเสมอว่า มิจฉาชีพมักจะหลอกทำให้เรารัก  ทำให้เราหลง ทำให้เรากลัว แล้วขู่บังคับให้เราทำตาม

หากท่านตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ  อย่าลืมรีบแจ้งอายัดเงิน อายัดบัญชีกับ ธนาคาร หรือสถาบันการเงินทันที หรือ สายด่วน ๑๔๔๑ AOC  และให้ รีบแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ท้องที่ใดก็ได้) ให้เร็วที่สุด  ส่วนวิธีการแจ้งอายัด และช่องทางแจ้งความร้องทุกข์ ตลอดจนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว  หวังว่าท่านคงจะทราบ และมีภูมิคุ้มกันดีแล้ว 

นายวรเทพ   สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ( คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย  การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ( สมัยที่ ๒๕ )

๑๙  ธันวาคม  ๒๕๖๗


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ เปิดตัว คลินิกเวชกรรมเปาโล ซอยมังกรทางเลือกใหม่สำหรับการดูแลรักษา ป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “กู้ (ดอก) โหด โพสต์เปลือยประจาน”