บทความทางกฎหมายเรื่อง

“มะลับ มะเร็ง ข้อมูลด้านสุขภาพบุคคลผู้ใดจะนำไปเปิดเผยไม่ได้” โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗

 “ โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน เสียชีวิตประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน โรคมะเร็งที่พบมาก ๕ อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และ มะเร็งปากมดลูก

 ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยต้องประสบกับปัญหาต่างๆ เป็นระยะ เช่น ระยะที่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้วมีจิตใจหดหู่ ระยะที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลช่วงหนึ่ง ขณะที่รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ภายนอกบางอย่างที่สังเกตเห็นได้ เช่นผมร่วง ร่างกายสูบผอม และเมื่อโรคมะเร็งลุกลามมากจนผู้ป่วยอยู่ระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยอาจมีความอ่อนเพลีย ความคิดสับสน แต่ละช่วงเวลาผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันไป   ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางราย พอทราบว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็ง อาการป่วยก็ทรุดลงทันที ทั้งที่ ก่อนทราบก็ใช้ชีวิตตามปกติ
 การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย ทั้งอาการเจ็บป่วย รูปภาพของผู้ป่วยผ่านโลกอินเตอร์เน็ต อาจเกิดมาจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจหลุดมาจากประชาชนเอง หรือจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา บ้างก็มีเจตนาดีต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น การขอรับบริจาคเลือดหายาก 

 แต่ทั้งนี้ พึงจะต้องระวังในการโพสต์ข้อมูลเหล่านี้โดยที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยไม่อนุญาต เพราะ สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และ ขัดต่อพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๗ ที่ระบุว่า “ ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง และไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของบุคคลไม่ได้”

  และหาก แพทย์ เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย มะเร็ง เสียเองอาจผิดได้ถ้า  :

มาตรา ๓๒๓ ประมวลกฎหมายอาญา

  “ ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพ เป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 “ ข้อมูลมุขภาพของบุคคล เป็น “ความลับส่วนบุคคล” ผู้ใดจะนําไปเปิดเผยในประการที่ น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้

  เหตุที่นำเรื่อง “ การเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล โดยเฉพาะ เรื่อง “มะเร็ง” ของบุคคลอื่น มาเปิดเผยโดยผู้อื่น (เจ้าของข้อมูล) ไม่อนุญาต  หรือไม่ยินยอม จะกระทำไม่ได้ 

 สืบเนื่องมาจากปรากฏข่าวว่า  มีการนำ “ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ”ของ ผู้นำองค์กรกระบวนการยุติธรรม เรื่องการป่วยเจ็บ (โรคมะเร็ง ) โดยกล่าวอ้าง/ อ้างอิงว่า “ป่วยเป็นโรคมะเร็ง” ทั้งที่  ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพ มิได้อนุญาต หรือ ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพดังกล่าว 

 หากเป็นเรื่องจริง....... ก็เป็น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต 

  แต่หากไม่เป็นเรื่องจริง.... นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น และเป็นความผิดตามกฎหมายดังที่กล่าวแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ถูกอ้างอิงถึงได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้นำองค์กร หรือ แม่ทัพขององค์กร ย่อมอาจทำให้บุคลากรในองค์กรอาจเสียขวัญ เสียกำลังใจได้

 คนที่ยินยอมและอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ” ป่วยโรคมะเร็ง” ได้ก็มี และ ที่เห็นเด่นชัด คือ“ คุณชูวิทย์  กมลวิศิษฐ์” ที่ออกมาเปิดเผยและแถลงข่าวว่า “ตนเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็ง” ขอยุติบทบาทและขอไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ 

  และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกฎหมายในเรื่องดังกล่าว

  ตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐  มาตรา ๗ “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” เป็น “ความลับส่วนบุคคล” ผู้ใด จะนําไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้

 เว้นแต่ การเปิดเผยนั้น เป็ํนไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือ มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย

  แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใด จะอาศัยอํานาจ หรือ สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือ กฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับ         ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

   “กฎหมายยกเว้นให้เปิดเผยได้” เช่น 

 พระราชบัญญัติิข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐

 มาตรา ๒๔  “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” ที่อยู่ใ่นความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น โรงพยาบาลรัฐจะเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยต่อเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลแห่งนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ เป็นการนำข้อมูลไปใช้้เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนั้น หรือ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งนั้นเอง กรณีนี้ก็เข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา ๒๔

ส่วน “การเปิดเผยข้อมูลที่ ไม่ต้องได้รับความยินยอม”

 การนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้ให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก หรือการศึกษาวิจัยเชิงระบาดวิทยา 

 ข้อมูลผู้ป่วยที่ หน่วยงานหรือนักวิจัยควรดำเนินการปกปิดชื่อ หรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ข้อมูลดังกล่าว ไม่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอีก แล้ว “ข้อมูลสุขภาพ” คือ อะไร ?

 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐

 มาตรา ๓ “สุขภาพ” หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล

 “ ข้อมูลด้านสุขภาพ” สะท้อนให้เห็นความหมายได้จาก

 มาตรา ๘ ใน การบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องแจ้ง” ข้อมูลด้านสุขภาพ”ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด

  และในกรณีที่ ผู้รับบริการ ปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้

 ในกรณีที่ เกิดความเสียหายหรืออันตรายแก่ผู้รับบริการ เพราะเหตุที่ “ผู้รับบริการ” ปกปิด ข้อเท็จจริงที่ตนรู้และควรบอกให้แจ้ง หรือ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ผู้ให้บริการ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรืออันตรายนั้น 

 เว่นแต่ เป็นกรณีที่ ผู้ให้บริการ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

 หากฝ่าฝืน ไปเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของบุคคลอื่นโดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของข้อมูลสุขภาพ มีผลเช่นใด ? :

 มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือ มาตรา ๙ ต้องระวางโทษ “จําคุกไม่เกิน หกเดือน” หรือ “ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”  หรือทั้งจําทั้งปรับ

 แต่ความผิดตามมาตรานี้ “เป็นความผิดอันยอมความได้” 

 ดังนั้น เมื่อ การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพบุคคล เป็น “ความผิดอันยอมความ” ได้ ก็สามารถ “ถอนคำร้องทุกข์” ได้เช่นกัน และเมื่อ “ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒)  และหากจะร้องทุกข์ ก็ต้อง “ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่อง และรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

  นอกจาก พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วยังมี ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การคุ้มครองและจัดการข้อมูลด้านสขภาพของบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๑

 “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลหรือสิ่งใด ๆ ที่แสดงออกมาในรูปเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใดที่ทําให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้และให้รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเปิดเผยข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ประกาศกําหนด  “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่เป็นเอกสารหรือข้อความในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์  การคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล

 ข้อ ๑๓ “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” เป็น ความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้มีอํานาจกระทําการแทนตามข้อ ๑๔ (๒) - (๕) และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และ การเปิดเผยจะทําให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลและผู้ครอบครองข้อมูลไม่ได้

ข้อ ๑๔ บุคคลดังต่อไปนี้มี สิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล

        (๑) ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

        (๒) ผู้ที่ได้รับมอบอํานาจจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

        (๓) ผู้ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

        (๔) ผู้มีอํานาจกระทําการแทนเจ้าของข้อมูล คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม, ผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์

        (๕) ทายาท ในกรณีผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเสียชีวิต ( สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรหรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง บุตรบุญธรรมตามกฎหมาย บิดาหรือมารดาตามความเป็นจริง)

 ข้้อ ๑๕ บุคคลดังต่อไปนี้ มีอํานาจขอให้ “ผู้ควบคุมข้อมูล” เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของ

บุคคลโดย ไม่จําต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้มีอํานาจกระทําการ คือ ศาล, พนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ตํารวจ, คณะกรรมาธิการ, คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายให้อํานาจในการเรียกเอกสารข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลได้ 

 ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการนําข้อมูลไปใช้ในทางให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลหรือทายาท

 กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” ถือว่า เป็นความลับส่วนบุคคลที่บุคคลใดจะนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะด้วย โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( โรคเอดส์) ฯลฯ  หากฝ่าฝืนไปเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพโดยผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต หรือไม่ยินยอม อาจได้รับโทษทางอาญาจําคุกไม่เกิน หกเดือน” หรือ “ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”  หรือทั้งจําทั้งปรับ

 อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หวังว่า ท่านคงจะไม่ไปเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพบุคคลอื่น โดยเขาไม่อนุญาต หรือไม่ยินยอม เพราะนอกจากอาจถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาดังที่กล่าวแล้ว แต่เราอาจเป็น “ ผู้ที่ฆ่าเขาโดยเราไม่รู้ตัว” ก็ได้ หากผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดความเครียดแล้วเกิดอาการทรุดลง ดังคำกล่าวที่ว่า

 “ กาย และ จิต สัมพันธ์กัน”   

          กายดี จิตใจดี จิตทรุด กายทรุด

 *** นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

     อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

     (อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ เปิดตัว คลินิกเวชกรรมเปาโล ซอยมังกรทางเลือกใหม่สำหรับการดูแลรักษา ป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “กู้ (ดอก) โหด โพสต์เปลือยประจาน”